โครงการสำรวจสภาพปัญหาการจราจรและความต้องการระบบขนส่งมวลชนในเขตพื้นที่เทศบาลนครเชียงใหม่ ปี 2564

        

บทสรุปผู้บริหาร

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้ทำการสำรวจสภาพปัญหาการจราจรและความต้องการระบบขนส่งมวลชนในเขตพื้นที่เทศบาลนครเชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงรูปแบบ และพฤติกรรมการใช้รถใช้ถนนของประชาชน เพื่อสำรวจสภาพปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการจราจร และเพื่อศึกษาถึงความต้องการการใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะสำหรับนักเรียนหรือ Smart School Link ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ ของประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ ที่ต้องเดินทางเข้ามาในพื้นที่เทศบาลนครเชียงใหม่ โดยกลุ่มเป้าหมายในการศึกษาประกอบด้วยผู้ปกครอง นักเรียน บุคลากรของโรงเรียน และผู้ใช้รถใช้ถนนทั่วไป ที่มีพฤติกรรมการเดินทางไปทำธุระในเขตพื้นที่เทศบาลนครเชียงใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเดินทางไปทำงาน หรือส่งบุตรหลานไปโรงเรียนในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ในเส้นทางสายหลัก ประกอบด้วย 1) ถนนเจริญประเทศ  2) ถนนแก้วนวรัฐ 3) ถนนพระปกเกล้า และ 4) ถนนบุญเรืองฤทธิ์ จำนวน 1,843 ตัวอย่าง โดยใช้แบบสอบถามแบบ Online ผ่าน Google form เป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล ผลการสำรวจมีดังต่อไปนี้

          จากการสำรวจพบว่าผู้ใช้รถใช้ถนนส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ส่วนใหญ่มีอายุอยู่ในช่วง 36 – 45 ปี อายุเฉี่ย 39 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ประกอบธุรกิจส่วนตัว/ค้าขาย มีสถานะเป็นผู้ปกครอง ส่วนใหญ่อาศัยอยู่นอกเขตเทศบาล ใช้เส้นทางถนนเจริญประเทศในการสัญจร ใช้รถยนต์ (เก๋ง/ปิคอัพ) เป็นยานพาหนะที่ใช้ในการเดินทาง มีวัตถุประสงค์ในการเดินทางเข้ามาในเขตพื้นที่เทศบาลนครเชียงใหม่เนื่องจากต้องการส่งบุตรหลานไปโรงเรียน มีความถี่ในการเดินทางเข้าไปในเขตพื้นที่เทศบาลนครเชียงใหม่เฉลี่ย 3 ครั้งต่อวัน โดยมีระยะทางเฉลี่ยในการเดินทาง 15.46 กิโลเมตรต่อครั้ง ใช้ระยะเวลาในการเดินทางโดยเฉลี่ย 28 นาทีต่อครั้ง ส่วนใหญ่จะเดินทางทางเข้าไปในเขตพื้นที่เทศบาลนครเชียงใหม่ช่วงเวลา 6.00 – 9.00 น. โดยหากเป็นการเดินทางโดยรถยนต์ส่วนบุคคลจะมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 70 บาทต่อครั้ง หากเป็นการเดินทางโดยรถโดยสารสาธารณะรายครั้ง จะมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 65 บาทต่อครั้ง และหากเป็นการเดินทางโดยรถโดยสารสาธารณะรายเดือนจะมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 1,580 บาทต่อเดือน

          จากการสำรวจสภาพการจราจรบริเวณโรงเรียนในเขตพื้นที่เทศบาลนครเชียงใหม่ ส่วนใหญ่มีปัญหาติดขัดเฉพาะชั่วโมงเร่งด่วน เวลา 8.00 น. - 9.00 น. และ 16.00 น. – 17.00 น. ส่วนใหญ่เห็นว่าสาเหตุของปัญหาการจราจรหนาแน่นบริเวณโรงเรียนในเขตพื้นที่เทศบาลนครเชียงใหม่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณรถที่มารับ-ส่งนักเรียนในสถานศึกษา โดยปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต โดยส่งผลต่อการเสียเวลาและการใช้เวลาในการเดินทางเพิ่มมากขึ้น รองลงมาได้รับผลกระทบด้านสุขภาพจากการเกิดการสูดดมฝุ่นละออง PM 2.5 ซึ่งผู้ใช้รถใช้ถนนส่วนใหญ่เห็นว่าผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทางอากาศในตัวเมืองจังหวัดเชียงใหม่ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากปัญหาการจราจรบริเวณโรงเรียนในเขตพื้นที่เทศบาลนครเชียงใหม่เช่นกัน

        ทั้งนี้ผู้ใช้รถใช้ถนนส่วนใหญ่ เห็นด้วยกับการจัดรถขนส่งมวลชนเพื่อการรับ-ส่งนักเรียนบริเวณโรงเรียนในเขตพื้นที่เทศบาลนครเชียงใหม่ โดยเห็นว่าประเภทรถที่เหมาะสมต่อการรับ-ส่งนักเรียน ควรเป็นรถเมล์ไฟฟ้า (Minibus) ขนาด 20 ที่นั่ง โดยเห็นว่าจุดบริการรถโดยสารขนส่งมวลชนที่เหมาะสมเพื่อการรับ-ส่งนักเรียนบริเวณโรงเรียนในเขตพื้นที่เทศบาลนครเชียงใหม่ควรอยู่ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่  และเมื่อแยกพื้นที่การตั้งจุดให้บริการรถขนส่งมวลชน พบข้อมูลดังต่อไปนี้

          1) ผู้ที่ใช้ถนนเจริญประเทศเพื่อเดินทางเป็นประจำ ส่วนใหญ่ต้องการให้มีจุดบริการบริเวณเซ็นทรัลเฟสติวัล เชียงใหม่ มากที่สุด รองลงมาคือบริเวณสถานีขนส่งเชียงใหม่แห่งที่ 2 (อาเขต) และบริเวณเซ็นทรัลแอร์พอร์ท เชียงใหม่

          2) ผู้ที่ใช้ถนนแก้วนวรัฐเพื่อเดินทางเป็นประจำ ส่วนใหญ่ต้องการให้มีจุดบริการบริเวณเซ็นทรัลแอร์พอร์ท เชียงใหม่ มากที่สุด รองลงมาต้องการให้มีจุดบริการบริเวณหมู่บ้านเชียงใหม่แลนด์ และบริเวณเซ็นทรัลเฟสติวัล เชียงใหม่

         3) ผู้ที่ใช้ถนนบุญเรืองฤทธิ์เพื่อเดินทางเป็นประจำ ส่วนใหญ่ต้องการให้มีจุดบริการบริเวณเซ็นทรัลแอร์พอร์ท เชียงใหม่ มากที่สุด รองลงมาต้องการให้มีจุดบริการบริเวณเซ็นทรัลเฟสติวัล เชียงใหม่ และบริเวณโบสถ์คริสตจักรที่ 1 และสถานีขนส่งเชียงใหม่แห่งที่ 2 (อาเขต) ตามลำดับ

         4) ผู้ที่ใช้ถนนพระปกเกล้าเพื่อเดินทางเป็นประจำ ส่วนใหญ่ต้องการให้มีจุดบริการบริเวณ เซ็นทรัลแอร์พอร์ท เชียงใหม่ มากที่สุด รองลงมาต้องการให้มีจุดบริการบริเวณสถานีขนส่งเชียงใหม่แห่งที่ 2 (อาเขต) และต้องการให้มีจุดบริการบริเวณหมู่บ้านเชียงใหม่แลนด์

โดยผู้ใช้รถใช้ถนนเห็นว่าค่าบริการรายวันในรูปแบบเงินสด (10 บาท/ครั้ง) มีความเหมาะสมมากที่สุด รองลงมา เห็นว่าบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์แบบเหมาจ่ายรายเดือน (350 บาท/เดือน) มีความเหมาะสม ทั้งนี้ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมและคุณภาพการบริการ ผู้ใช้รถใช้ถนนเห็นว่าความปลอดภัยของการใช้บริการ เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกใช้บริการรถโรงเรียนสาธารณะ รองลงมาได้แก่ความหนาแน่นของการจราจรในบริเวณที่จะเดินทางไป ความเหมาะสมของเส้นทางเดินรถ ประเภทและสภาพของรถขนส่งที่นำมาให้บริการ  ระยะเวลารอรถโดยสาร อัตราค่าบริการ และมาตรการจัดการจราจรของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงเรียน ส่วนงานจราจร เป็นต้น

          จากการสำรวจสภาพปัญหาการจราจรและความต้องการระบบขนส่งมวลชนในเขตพื้นที่เทศบาลนครเชียงใหม่ในครั้งนี้ ทีมวิจัยมีข้อเสนอแนะต่อวางแผนเพื่อผลักดันให้เกิดนโยบายขนส่งสาธารณะที่ให้บริการประชาชนอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพดังต่อไปนี้

          1) ในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ ผู้พัฒนาควรมุ่งให้ความสำคัญกับการให้บริการที่มีความปลอดภัยเป็นอันดับแรก โดยควรพิจารณาถึงประเภทรถที่มีความปลอดภัยในการให้บริการ รวมถึงการรับสมัครพนักงานชับรถที่มีพฤติกรรมการขับรถที่ปลอดภัย

          2) ในการพัฒนาเส้นทางการให้บริการรถโรงเรียนสาธารณะ ผู้พัฒนาต้องคำนึงถึงความเหมาะสมของเส้นทางการเดินรถที่สอดคล้องกับความต้องการในการเดินทางของผู้ใช้บริการ และพิจารณาถึงความหนาแน่นของการจราจรในบริเวณที่จะเดินทางไป และอัตราค่าบริการที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการดำเนินการ

          3) ในการแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 ที่ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากปัญหาการจราจร ควรมีแนวทางทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดย

                   3.1 แนวทางระยะสั้น ควรมีการรณรงค์การใช้รถใช้ถนนที่ลดปัญหาความคับคั่งของการจราจร ประกอบด้วย 1) การวางแผนด้านเวลาโดยการออกจากที่พักเร็วขึ้น 2) การวางแผนด้านเส้นทางการเดินทาง และ 3) การรณรงค์การเดินทางเส้นทางเดียวกันร่วมเดินทางด้วยกัน หรือ Carpool เพื่อลดปริมาณรถบนท้องถนน

                      3.2 แนวทางระยะยาว ประกอบด้วย 1) ควรมีการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ 2) ควรออกกฎหมายควบคุมและลดมลพิษจากยานพาหนะ โดยบังคับใช้มาตรการระบายมลพิษทางอากาศจากรถยนต์ใหม่ Euro 6 3) บังคับใช้มาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิงมีกำมะถันต่ำ ไม่เกิน 10 PPM และ 4) ส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าแทนการใช้รถเครื่องยนต์แบบสันดาป