จริยธรรมในการตีพิมพ์บทความ

มหาวิทยาลัยแม่โจ้

จริยธรรมในการตีพิมพ์บทความ


         วารสารเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ดำเนินการจัดพิมพ์และเผยแพร่โดยศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นสื่อกลางในการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการในด้านบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ในหลายมิติ และการพัฒนาสังคมและชุมชน ทั้งผลงานวิชาการและผลงานวิจัยสำหรับนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา มหาบัณฑิต ดุษฎีบัณฑิต และบุคลากรทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย อันแสดงให้เห็นถึงคุณภาพการศึกษา การค้นคว้า การวิจัย และการอ้างอิงการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ดังนั้นเพื่อให้การสื่อสารทางวิชาการเป็นไปอย่างถูกต้อง สอดคล้องกับมาตรฐานการตีพิมพ์ในระดับชาติและนานาชาติ จึงได้กำหนดแนวทาง วิธีปฏิบัติที่ดีและจริยธรรมของการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานทางวิชาการไว้สำหรับการดำเนินงานของวารสาร ตามบทบาทหน้าที่ดังนี้

1. บรรณาธิการและทีมงาน

1.1 บรรณาธิการและทีมงานมีหน้าที่ประเมินคุณค่าทางวิชาการของต้นฉบับบทความ คำนึงถึงวัตถุประสงค์และขอบเขตของวารสารเป็นสำคัญ โดยไม่เกี่ยวข้องกับเชื้อชาติ ศาสนา ปรัชญา การเมือง หรือสถาบัน

1.2 บรรณาธิการและทีมงานต้องรักษาความลับของต้นฉบับบทความและข้อมูลต่าง ๆ จนกว่าบทความจะเผยแพร่ ยกเว้นกรณีสงสัยว่าต้นฉบับบทความนั้นจะมีการกระทำผิดจริยธรรมการตีพิมพ์ เมื่อตรวจสอบแน่ชัดว่ามีการกระทำผิดจริยธรรมการตีพิมพ์จริง บรรณาธิการสามารถถอนต้นฉบับบทความออกจากการดำเนินการ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้เขียนบทความ

1.3 บรรณาธิการและทีมงานต้องรักษาผลการพิจารณาต้นฉบับบทความและข้อคิดเห็นต่าง ๆ จากผู้ประเมินบทความไว้เป็นความลับ และไม่อนุญาตให้ใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว

1.4 บรรณาธิการและทีมงานต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้เขียนบทความและผู้ประเมินบทความ รวมทั้งไม่นำข้อมูลต่าง ๆ ในบทความไปเป็นผลงานของตนเองและผู้อื่น

1.5 ก่อนบรรณาธิการ “ตอบรับ” หรือ ‘ปฏิเสธการตีพิมพ์” บทความนั้น ๆ ต้องผ่านการตรวจสอบการคัดลอกผลงานของผู้อื่นในกระบวนการประเมินบทความ หากพบการคัดลอกผลงานดังกล่าว บรรณาธิการจะหยุดกระบวนการประเมิน และติดต่อผู้เขียนหลักทันทีเพื่อขอคำชี้แจง

2. ผู้ประเมินบทความ

2.1 ผู้ประเมินบทความต้องตรวจสอบก่อนว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้เขียนบทความหรือไม่ เมื่อพบว่าไม่สามารถให้ข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นอย่างอิสระ ต้องแจ้งบรรณาธิการและปฏิเสธการประเมินบทความนั้น

2.2 ผู้ประเมินบทความช่วยบรรณาธิการในการตัดสินใจเผยแพร่บทความ และช่วยผู้เขียนในการปรับปรุงคุณภาพของต้นฉบับบทความในสาขาวิชาที่ตนเองมีความเชี่ยวชาญ โดยใช้หลักการและทฤษฎีทางวิชาการสนับสนุนข้อโต้แย้งเชิงวิทยาศาสตร์หรือเชิงประจักษ์ ไม่ใช้ความคิดเห็นส่วนตัวที่ไม่มีหลักฐานหรือข้อมูลรองรับเป็นเกณฑ์ในการตัดสินบทความ

2.3 ผู้ประเมินบทความต้องรักษาต้นฉบับบทความที่ได้รับมอบหมายให้พิจารณาไว้เป็นความลับ ยกเว้นได้รับอนุญาตจากบรรณาธิการ (ภายใต้สถานการณ์พิเศษและเฉพาะกิจ)

2.4 ผู้ประเมินบทความต้องไม่นำข้อมูลต่าง ๆ ในบทความไปเป็นผลงานของตนเองและผู้อื่น และเมื่อตรวจพบว่ามีการกระทำผิดจริยธรรมต้องแจ้งให้บรรณาธิการทราบ

3. ผู้เขียนบทความ

3.1 บทความต้องเป็นผลงานของผู้เขียน (และคณะ) จริง โดยไม่นําผลงานของผู้อื่นมาเป็นผลงานของตน และไม่ลอกเลียนผลงานของผู้อื่น

3.2 บทความต้องไม่เคยตีพิมพ์หรือเผยแพร่มาก่อน โดยไม่นําผลงานในเรื่องเดียวกันไปเผยแพร่ในวารสารหรือรายงานการประชุมวิชาการ (proceedings) รวมถึงไม่คัดลอกข้อความใด ๆ จากผลงานเดิมของตนโดยไม่อ้างอิงผลงานเดิมตามหลักวิชาการ ในลักษณะที่จะทําให้เข้าใจผิดว่าเป็นผลงานใหม่

3.3 ผู้เขียน (และคณะ) จะไม่นำส่งบทความเพื่อพิจารณาตีพิมพ์หรือเผยแพร่ยังที่อื่น จนกว่าจะได้รับการอนุมัติถอนบทความจากบรรณาธิการ หรือบทความนั้นประเมินไม่ผ่าน

3.4 ผู้เขียน (และคณะ) ได้อ้างถึงบุคคลหรือแหล่งที่มาของข้อมูลที่นํามาใช้ในการเขียนบทความ เพื่อแสดงหลักฐานของการค้นคว้า โดยไม่คํานึงถึงผลประโยชน์ทางวิชาการจนละเลยหรือละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น หรือสิทธิมนุษยชน

3.5 บทความได้มาจากการศึกษาโดยใช้หลักวิชาการเป็นเกณฑ์ ปราศจากอคติ และเสนอผลงานตามความเป็นจริง ไม่จงใจเบี่ยงเบนผลการศึกษาหรือวิจัยโดยหวังผลประโยชน์ส่วนตัวหรือเพื่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นและเสนอผลงานตามความเป็นจริง ไม่ขยายข้อค้นพบโดยปราศจากการตรวจสอบยืนยันในทางวิชาการ

3.6 หากบทความมีการใช้ข้อมูลจากการวิจัยในมนุษย์หรือสัตว์ ผู้เขียน (และคณะ) ได้แสดงการอนุญาตจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยของสถาบันที่มีการดําเนินการไว้ในบทความแล้ว

3.7 หากบทความมีการใช้ข้อมูลจากการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ พรบ.เชื้อโรคและพิษจากสัตว์ และอนุบัญญัติ ผู้เขียน (และคณะ) ได้แสดงการอนุญาตจากคณะกรรมการควบคุมความปลอดภัยทางชีวภาพของสถาบันที่มีการดําเนินการไว้ในบทความแล้ว

3.8 ข้อมูลที่นํามาใช้ในการเขียนบทความ ผู้เขียน (และคณะ) ได้มาจากวิธีการโดยชอบตามระเบียบ ข้อบังคับ และกฎหมายต่าง ๆ